09 ตุลาคม 2551

ความสำคัญของบรรณาธิการหนังสือ



หนังสือเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ หากได้หนังสือที่ดี ที่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ตรงกันข้ามหากผู้อ่านได้รับความรู้หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เราเข้าใจความหมายที่ผิดหรือคลาดเคลื่อนได้และหากผู้อ่านนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูล ข่าวสารได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่ ด้วยเหตุนี้เอง หนังสือทุกเล่มจึงต้องมีบรรณาธิการ เพื่อคอยตรวจทานหนังสือ ให้มีข้อมูล การใช้ภาษา สำนวนที่ปรากฏในหนังสือ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

“ บรรณาธิการ ” คือ ผู้จัด เลือกเฟ้นรวบรวม ปรับปรุงและรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์ บรรณาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว ให้ต้นฉบับงานเขียนสำเร็จเป็นสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยอาจดำเนินการคนเดียว หลายคน หรือเป็นคณะ และอาจมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะ ปริมาณ ความลึกซึ้งหรือหลากหลาย ความซับซ้อนของส่วนประกอบเนื้อหา หรือโอกาสสำคัญที่จะจัดพิมพ์ต้นฉบับ งานเขียนชิ้นนั้น
หัวใจของงานบรรณาธิการ คือ การเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์คือสิ่งพิมพ์ ลูกค้าคือผู้อ่าน ทำอย่างไรให้ต้นฉบับกลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ประณีตด้วยเทคนิค เนื้อหาทรงคุณค่าให้ประโยชน์คุ้ม และได้รับการยกย่องในวงการ

การที่จะก้าวขึ้นมาทำงานเป็น “ บรรณาธิการ ” หนังสือได้นั้น ต้องยอมรับว่า แต่ละคนล้วนผ่านงานมาอย่างหนัก ต้องรอบรู้ มีประสบการณ์สูง และมีอุดมการณ์ในการทำหนังสืออย่างแรงกล้า โดยบรรณาธิการชื่อดังหลายๆ คนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น นอกจากจะทำงานเป็นบรรณาธิการที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นนักคิด นักเขียน นักต่อสู้ หรือสะท้อนเรื่องราวสังคมในแต่ละยุคสมัยด้วยความหนักแน่นและแหลมคมอีกด้วย
แต่เนื่องจากปัจจุบันตลาดธุรกิจสิ่งพิมพ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแข่งขันกันออกหนังสือหัวใหม่จำนวนมาก ทั้งนิตยสารและหนังสือเล่ม ตลอดจนแย่งชิงกันออกหนังสือหัวในหัวนอก จึงทำให้วงการหนังสือในยุคนี้หา ' บรรณาธิการ' ได้ยากเต็มที หรือถ้าหากจะเรียกว่า 'บรรณาธิการขาดแคลน' หรือ 'บรรณาธิการขาดตลาด' จุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่าบรรณาธิการขาดแคลนนั้น คือ ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีบรรณาธิการหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับวงการหนังสือที่เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะการเปิดตัวของนิตยสารใหม่ที่เกิดขึ้นแทบทุกเดือนทุกสัปดาห์เลย แม้หลายๆ สำนักพิมพ์จะมีหนังสือ นิตยสารใหม่อยู่ในมือ แต่กลับหาบรรณาธิการมาทำงานไม่ได้ จึงทำให้เกิดสาขาวิชาบรรณาธิการในบางมหาวิทยาลัย

ในบางสำนักพิมพ์มีวิธีการหาบรรณาธิการ โดยผลิตคนทำงานบรรณาธิการขึ้นมาเอง จะไม่ได้ไปดึงตัวบรรณาธิการจากที่อื่นมา เพราะหากถ้าดึงบรรณาธิการจากที่อื่นมาแล้วก็ไม่มั่นใจว่าเขาจะทำงานได้ดีอย่างที่คาดหวังไว้หรือเปล่า และถือเป็นข้อดีด้วยว่าคนของเราจะได้มีเส้นทางการทำงานโตขึ้น สำหรับคนที่มีความสามารถ คนไหนเก่ง และขยันขันแข็ง ก็จะสนับสนุนให้เขาได้ฝึกฝนการทำงานเป็นบรรณาธิการ หรือถ้าไม่ถึงกับเป็นบรรณาธิการ อาจจะเป็นรองหรือผู้ช่วยบรรณาธิการ ซึ่งเปิดโอกาสให้อยู่แล้วสำหรับคนทำงาน คนที่อยากเป็นบรรณาธิการ เพราะมีหลายคนค่อยๆ เติบโตมาจากกองบรรณาธิการ พอเปิดหนังสือเล่มใหม่ คนนี้ย้ายไปทำเล่มใหม่ เล่มเดิมจะมีที่ว่าง ทำให้เขาได้ก้าวขึ้นมาตามลำดับ เพราะถ้าเราจะไปหวังคนจากข้างนอกคงไม่ค่อยมีอยู่แล้ว เพราะบรรณาธิการเก่งๆ เขามีงานดีๆ กันทั้งนั้น

นอกจากนี้ ประสบการณ์การทำหนังสือของบรรณาธิการถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก งานบรรณาธิการต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร และต้องพัฒนาจากประสบการณ์ อาจจะใช้เวลามากบ้างน้อยบ้าง เพราะในที่สุดแล้วตัวบรรณาธิการจะเป็นคนตัดสินใจว่าหนังสือควรจะเป็นอย่างไร เรื่องไหนน่าสน เรื่องนี้ทำแล้วโดน ฉะนั้นเขาจะต้องเป็นคนชอบอ่านหนังสือและมีความสนใจหลากหลาย ประสบการณ์จะช่วยบอกว่าเรื่องไหนน่าสนใจ เรื่องอะไรขายได้ ประสบการณ์จะเป็นตัวบอก แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นคนมีอายุมาก อายุอาจจะประมาณหนึ่ง ไม่ได้มากเกินไป

และดูเหมือนว่า การก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการของคนรุ่นปัจจุบันกับอดีตแตกต่างกันอย่างมาก “ บรรณาธิการสมัยนี้มันเหมือนมะม่วงบ่มแก๊ส ” เพราะเวลาต้องบีบคนให้รีบทำ สถาบันศึกษาผลิตเด็กขึ้นมาไม่ทันกับธุรกิจหนังสือที่มันโตขึ้น ดังนั้น บรรณาธิการในปัจจุบันจะเหมือนส่งขึ้นชกก่อน แล้วไปปลดกลางอากาศทีหลัง เพราะใหม่ๆ จะอ่านหนังสือไม่แตก บรรณาธิการสมัยก่อนที่เขาประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเป็นปรู๊ฟด้วยซ้ำ แล้วขยับมาเป็นนักข่าว นักเขียน และที่สุดของคนทำหนังสือ คือ 'เก้าอี้บรรณาธิการ' เป็นงานสุดท้าย แต่คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นบรรณาธิการก่อนเลย และต่อไปคือเป็นผู้บริหาร เพราะฉะนั้นคุณภาพของหนังสือจะแตกต่างกัน

กล่าวถึงคุณสมบัติบรรณาธิการว่า พื้นฐานต้องเป็นคนที่มีความรักในการทำหนังสือ รักการอ่าน รู้จักหนังสือแต่ละประเภท รายได้จากอาชีพนี้ไม่มากนัก จึงต้องเป็นผู้ที่มีความพอเพียง สุภาพ เรียบร้อย ถ่อมตน มีความสามารถด้านต่าง ๆ ดี มีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ รักที่จะเรียนรู้ และขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง

บรรณาธิการจะต้องมีวิธีการฝึกคนให้ดีก่อนจบออกไปสู่สังคม ควรมีวิชาด้านจริยธรรมของบรรณาธิการ และกฎหมาย เพราะบรรณาธิการต้นฉบับที่ดีต้องมีจริยธรรมในวิชาชีพสูง มีความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมาย สังคม และจริยธรรม การถ่ายทอดความรู้ การสื่อสาร ลิขสิทธิ์ ทักษะด้านการตลาด การจัดจำหน่าย ให้ผู้เรียนมีความรู้เรื่อง ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ โครงสร้างของสำนักพิมพ์ ประเภทของบรรณาธิการ การเขียน การนำเสนอ รูปแบบของสื่อแต่ละชนิด รู้เรื่องข่าวเพื่อการบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ การสอนต้องเข้มงวดด้านภาษาไทย การอ่านออกเสียง การเขียนภาษาไทยด้วยลายมือ
คุณลักษณะของบรรณาธิการต้นฉบับที่ดีนั้น ควรมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ไม่เอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ มีความตระหนักรู้ในเรื่องต่าง ๆ มีความเฉลียวฉลาด มีความสงสัยเป็นธรรมชาติ มีทักษะในการเจรจา มีความสามารถในการเขียน และมีอารมณ์ขัน

บรรณาธิการจะต้องอ่านข่าวแตก เข้าใจอย่างลึกซึ้งและสามารถจับประเด็นข่าวที่น่าสนใจได้ ข่าวตรงนี้ต้องขายอย่างไร จะใช้คนไปตามข่าวนี้แบบไหน ไปหาข่าวมาอย่างไร พาดหัวเก่ง โดน และบรรณาธิการต้องสามารถทำงานเองได้หมดทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตรวจต้นฉบับ พาดหัว สี ฉะนั้นบรรณาธิการจะต้องสามารถดูแลและบริหารงานทั้งหมดได้ การบริหารงานต้องใจเย็น เพราะถ้าเป็นบรรณาธิการที่เด็กหรือวุฒิภาวะยังไม่ถึง บางทีอารมณ์อาจจะวูบวาบ ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้

การเป็นบรรณาธิการต้องหาความรู้เพื่อเป็นการเตรียมตัวหรือต้องฝึกฝนให้ชำนาญ ได้แก่
๑. วิชาการ เมื่อบรรณาธิการจะต้องตรวจต้นฉบับงานวิชาการในสาขาใด จะต้องอ่านหนังสือวิชานั้นเพิ่มเติม การอ่านในวิชาช่วยให้ประเมินได้ว่าต้นฉบับชิ้นนั้นมีประเด็นสำคัญที่มีค่าควรจัดพิมพ์ในขณะนั้นหรือไม่ ส่วนการอ่านเรื่องทั่วไปจะทำให้เป็นผู้รอบรู้เหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวของวงการอื่น ๆ และสภาวะของสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจจัดพิมพ์ รวมทั้งต้องใช้ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ ช่วยในการพิจารณา สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จึงมีคณะที่ปรึกษาทางวิชาการเพื่อทำหน้าที่นี้
๒. ภาษา ควรเลือกอ่านข้อเขียนที่ใช้ภาษาดี วรรณกรรมคลาสสิก หนังสือที่ได้รับรางวัลทางการใช้ภาษา รวมทั้งหาโอกาสอยู่ในแวดวงของผู้ใช้ภาษาถูกต้อง
๓. รู้จักผู้อ่าน เนื้อหาและท่วงทำนองการเขียนมีส่วนเป็นอย่างมากในการกำหนดหรือจำกัดกลุ่มผู้อ่าน
๔. เทคนิควิธีการผลิตสิ่งพิมพ์ ควรรู้ขั้นตอนและวิธีการเบื้องต้นพอที่จะพิจารณาให้ความเห็นและประสานงานกับผู้พิมพ์ได้
๕. กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานเขียน การแปล หรือดัดแปลง การนำไปเผยแพร่ เรื่องสิทธิ การละเมิดสิทธิความคุ้มครองโดยกฎหมายรวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายดังกล่าว
๖. การตลาด บรรณาธิการควรรู้เรื่องแวดวงการตลาดสิ่งพิมพ์อย่างครบวงจร เพราะเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของธุรกิจ
๗. การบริหาร เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับบรรณาธิการ ทั้งระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ

คุณสมบัติบรรณาธิการอีกประการหนึ่ง คือ ต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ รู้กว้าง และรู้ลึก อธิบายได้ดังนี้

๑. รู้กว้าง หมายถึง รู้ไปทุกเรื่อง ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปะ วรรณกรรม คือ ต้องมีความรู้ทุกๆ ศาสตร์ในระดับหนึ่งในความของความเป็นศาสตร์ เวลาตรวจดูต้นฉบับสามารถเชื่อมโยงทุกศาสตร์ทุกเรื่องได้
๒. รู้ลึก หมายถึง ลงลึกไปในศาสตร์ที่ตัวเองทำได้ชัดเจนและถนัด อย่างประวัติวรรณกรรมก่อเกิดมาอย่างไร ให้รู้ลึกลงไป วันนี้อาจจะยังไม่รู้ สะสมไปอีกสัก 3-4 ปี จะทำให้เรียนรู้ลึกลงไปเรื่อยๆ เอง เรียนรู้จากคนอื่นและคนรอบข้าง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้มีหลายวิธี ในปัจจุบันการเป็นบรรณาธิการต้องบริหารงานมากขึ้น จะต้องรู้จักการบริหารคน บริหารองค์กร การตลาด และการเขียนด้วย ไม่ใช่เน้นในแง่ของการทำหนังสือเพียงอย่างเดียว

การบรรณาธิการหนังสือเป็นงานหลักของการเป็นบรรณาธิการ

ขั้นตอนของการบรรณาธิการหนังสือ มีดังนี้
๑. ติดต่อผู้เขียนเพื่อเขียนต้นฉบับ
๒. ทำตางรางแผนงานให้ผู้เขียน
๓. ประชุมกับผู้เขียนการสร้าง outline
๔. จัดหาข้อมูล รูปภาพ เพื่อการบรรณาธิการ
๕. รับต้นฉบับจากผู้เขียน เริ่มงานบรรณาธิการ
๖. เมื่อต้นฉบับเข้า เราเริ่มอ่าน และวางแผนการออกแบบเนื้อหาและรูปเล่ม สร้าง icon และ สัญลักษณ์ต่างๆ 7. ประชุมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ บรรณาธิการ Atr และ Maketting
๗. ตรวจต้นฉบับ เพื่อดูความถูกต้องของภาษา และข้อมูล
๘. ส่งงานให้ ฝ่าย Arttist ออกแบบ
๙. ปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งพิสูจน์อักษรอีก 3-4 ครั้ง
๑๐. ส่งงานต่อไปที่งาน Prepress และโรงพิมพ์ต่อไป

หลักการพิจารณาหนังสือ
เมื่อผู้อ่านหนังสืออยากอ่านหนังสือที่ดีแล้ว ควรรู้จักหลักการพิจารณา หนังสือที่อ่านนั้น
“ ดี ” หรือ “ไม่ดี ” เหตุใดจึงเรียกว่าดี หรือเหตุใดจึงไม่ดี หรือบกพร่อง หนังสือควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
๑. ดี คือมีคุณธรรม ไม่ชักนำให้ผิดศีลธรรม ไม่ชักนำให้เห็นผิดเป็นชอบ
๒. มีแง่งาม คือ สร้างสรรค์สิ่งสวยงาม เช่น ถ้อยคำไพเราะงดงาม ไพเราะด้วยเสียง ด้วยโวหาร
๓. มีความเที่ยงธรรม ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่สร้างอคติ มีความเที่ยงตรงเที่ยงธรรม
๔. มีความสำคัญ หนังสือที่ดีควรกล่าวถึง เรื่องราวเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ น่าสนใจ น่านิยมยกย่อง หรือเป็นตัวอย่าง
๕. มีความจำเป็น เป็นเรื่องราวที่คนต้องการ เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรรู้ เช่น หนังสือเกี่ยวกับ มารยาท
๖. มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ให้คติชีวิตที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ให้ความรอบรู้ ให้ความคิดที่สมเหตุสมผล เสริมสร้างทัศนคติ
๗. มีค่านิยมสูง ข้อนี้สำคัญที่สุด คือเป็นหนังสือที่สร้างอุดมการณ์ อุดมคติ ให้เกิดขึ้นในจิตใจผู้อ่าน เป็นหนังสือที่ชี้บอกว่า สิ่งใดที่คนดี ๆ นิยมยกย่องควรปลูกฝังสร้างสมหรือสิ่งใดเลวร้าย น่ารังเกียจ ควรขจัดทำลาย

ซึ่งบรรณาธิการเองจะเป็นผู้ที่จะช่วยให้หนังสือที่จะออกมาดี เช่น ถ้อยคำไพเราะงดงามไพเราะด้วยเสียง ด้วยโวหาร แก้ไขข้อบกพร่อง การใช้ภาษา

นี่ก็คือ ภาพสะท้อนของวงการหนังสือไทย ที่ยังขาดแคลนผู้ที่จะมาเป็นบรรณาธิการหนังสือ จึงพยายามที่จะผลิตบรรณาธิการที่ดี มาบรรณาธิการหนังสือให้มีคุณภาพดี เพราะประเทศไทยเองยังให้ความสำคัญเรื่องการอ่าน เรื่องหนังสือ อยากที่จะผลิตหนังสือดีๆ ออกมาเพื่อให้ผู้รับสาร ได้รับสารที่ถูกต้อง การที่จะผลิตหนังสือออกมาให้ดีนั้น บรรณาธิการก็เป็นส่วนที่สำคัญที่มีส่วนช่วยให้หนังสือออกมาดี ถูกต้อง บรรณาธิการจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคมมาก เนื่องจากต้องมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้อง การแปล และตรวจแก้ต้นฉบับ เพื่อให้หนังสือออกมามีคุณภาพ เด็ก เยาวชน ที่อ่านหนังสือก็จะได้รับสิ่งดีๆไป

อ้างอิงจาก
ทิพภา ปลีหะจินดา, กุสลวัฒน์ คงประดิษฐ์, ดร. ศุภรางศุ์ อินทรารุณ และ ผศ. ชิตาภา สุขพลำ . (๒๕๕๐).
รายงานการวิจัย การศึกษาแนวโน้มความต้องการบัณฑิต ในสาขาบรรณาธิการ เข้าถึงได้จาก:
http://www.bflybook.com/Article/EditorialCourse1/EditorialCourse1.htm .
(วันที่ค้นข้อมูล: ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑)

บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย. หลักการพิจารณาหนังสือ. เข้าถึงได้จาก:
http://school.obec.go.th/nakhawit/e_learning/kompus/p9.htm
(วันที่ค้นข้อมูล: ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑).

พรชัย จันทโศก. (๒๕๕๐, ๒๔ ตุลาคม). วงการหนังสือไทย: ยุคตามล่าหาบรรณาธิการ.
เข้าถึงได้จาก: http://www.siam-handicrafts.com/Webboard/question.asp?QID=3386.
ข่าวจาก : กรุงเทพธุรกิจ รายสัปดาห์ วันอาทิตย์ที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2548.
(วันที่ค้นข้อมูล : ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑).

Sangrung. (๒๕๕๑, ๐๒ กุมภาพันธ์). ขั้นตอนการบรรณาธิการหนังสือ.
เข้าถึงได้จาก: http://sangrung.exteen.com/20080202/entry.
(วันที่ค้นข้อมูล: ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑).