09 ตุลาคม 2551

ความสำคัญของบรรณาธิการหนังสือ



หนังสือเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ หากได้หนังสือที่ดี ที่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ตรงกันข้ามหากผู้อ่านได้รับความรู้หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เราเข้าใจความหมายที่ผิดหรือคลาดเคลื่อนได้และหากผู้อ่านนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูล ข่าวสารได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่ ด้วยเหตุนี้เอง หนังสือทุกเล่มจึงต้องมีบรรณาธิการ เพื่อคอยตรวจทานหนังสือ ให้มีข้อมูล การใช้ภาษา สำนวนที่ปรากฏในหนังสือ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

“ บรรณาธิการ ” คือ ผู้จัด เลือกเฟ้นรวบรวม ปรับปรุงและรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์ บรรณาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว ให้ต้นฉบับงานเขียนสำเร็จเป็นสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยอาจดำเนินการคนเดียว หลายคน หรือเป็นคณะ และอาจมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะ ปริมาณ ความลึกซึ้งหรือหลากหลาย ความซับซ้อนของส่วนประกอบเนื้อหา หรือโอกาสสำคัญที่จะจัดพิมพ์ต้นฉบับ งานเขียนชิ้นนั้น
หัวใจของงานบรรณาธิการ คือ การเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์คือสิ่งพิมพ์ ลูกค้าคือผู้อ่าน ทำอย่างไรให้ต้นฉบับกลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ประณีตด้วยเทคนิค เนื้อหาทรงคุณค่าให้ประโยชน์คุ้ม และได้รับการยกย่องในวงการ

การที่จะก้าวขึ้นมาทำงานเป็น “ บรรณาธิการ ” หนังสือได้นั้น ต้องยอมรับว่า แต่ละคนล้วนผ่านงานมาอย่างหนัก ต้องรอบรู้ มีประสบการณ์สูง และมีอุดมการณ์ในการทำหนังสืออย่างแรงกล้า โดยบรรณาธิการชื่อดังหลายๆ คนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น นอกจากจะทำงานเป็นบรรณาธิการที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นนักคิด นักเขียน นักต่อสู้ หรือสะท้อนเรื่องราวสังคมในแต่ละยุคสมัยด้วยความหนักแน่นและแหลมคมอีกด้วย
แต่เนื่องจากปัจจุบันตลาดธุรกิจสิ่งพิมพ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแข่งขันกันออกหนังสือหัวใหม่จำนวนมาก ทั้งนิตยสารและหนังสือเล่ม ตลอดจนแย่งชิงกันออกหนังสือหัวในหัวนอก จึงทำให้วงการหนังสือในยุคนี้หา ' บรรณาธิการ' ได้ยากเต็มที หรือถ้าหากจะเรียกว่า 'บรรณาธิการขาดแคลน' หรือ 'บรรณาธิการขาดตลาด' จุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่าบรรณาธิการขาดแคลนนั้น คือ ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีบรรณาธิการหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับวงการหนังสือที่เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะการเปิดตัวของนิตยสารใหม่ที่เกิดขึ้นแทบทุกเดือนทุกสัปดาห์เลย แม้หลายๆ สำนักพิมพ์จะมีหนังสือ นิตยสารใหม่อยู่ในมือ แต่กลับหาบรรณาธิการมาทำงานไม่ได้ จึงทำให้เกิดสาขาวิชาบรรณาธิการในบางมหาวิทยาลัย

ในบางสำนักพิมพ์มีวิธีการหาบรรณาธิการ โดยผลิตคนทำงานบรรณาธิการขึ้นมาเอง จะไม่ได้ไปดึงตัวบรรณาธิการจากที่อื่นมา เพราะหากถ้าดึงบรรณาธิการจากที่อื่นมาแล้วก็ไม่มั่นใจว่าเขาจะทำงานได้ดีอย่างที่คาดหวังไว้หรือเปล่า และถือเป็นข้อดีด้วยว่าคนของเราจะได้มีเส้นทางการทำงานโตขึ้น สำหรับคนที่มีความสามารถ คนไหนเก่ง และขยันขันแข็ง ก็จะสนับสนุนให้เขาได้ฝึกฝนการทำงานเป็นบรรณาธิการ หรือถ้าไม่ถึงกับเป็นบรรณาธิการ อาจจะเป็นรองหรือผู้ช่วยบรรณาธิการ ซึ่งเปิดโอกาสให้อยู่แล้วสำหรับคนทำงาน คนที่อยากเป็นบรรณาธิการ เพราะมีหลายคนค่อยๆ เติบโตมาจากกองบรรณาธิการ พอเปิดหนังสือเล่มใหม่ คนนี้ย้ายไปทำเล่มใหม่ เล่มเดิมจะมีที่ว่าง ทำให้เขาได้ก้าวขึ้นมาตามลำดับ เพราะถ้าเราจะไปหวังคนจากข้างนอกคงไม่ค่อยมีอยู่แล้ว เพราะบรรณาธิการเก่งๆ เขามีงานดีๆ กันทั้งนั้น

นอกจากนี้ ประสบการณ์การทำหนังสือของบรรณาธิการถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก งานบรรณาธิการต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร และต้องพัฒนาจากประสบการณ์ อาจจะใช้เวลามากบ้างน้อยบ้าง เพราะในที่สุดแล้วตัวบรรณาธิการจะเป็นคนตัดสินใจว่าหนังสือควรจะเป็นอย่างไร เรื่องไหนน่าสน เรื่องนี้ทำแล้วโดน ฉะนั้นเขาจะต้องเป็นคนชอบอ่านหนังสือและมีความสนใจหลากหลาย ประสบการณ์จะช่วยบอกว่าเรื่องไหนน่าสนใจ เรื่องอะไรขายได้ ประสบการณ์จะเป็นตัวบอก แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นคนมีอายุมาก อายุอาจจะประมาณหนึ่ง ไม่ได้มากเกินไป

และดูเหมือนว่า การก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการของคนรุ่นปัจจุบันกับอดีตแตกต่างกันอย่างมาก “ บรรณาธิการสมัยนี้มันเหมือนมะม่วงบ่มแก๊ส ” เพราะเวลาต้องบีบคนให้รีบทำ สถาบันศึกษาผลิตเด็กขึ้นมาไม่ทันกับธุรกิจหนังสือที่มันโตขึ้น ดังนั้น บรรณาธิการในปัจจุบันจะเหมือนส่งขึ้นชกก่อน แล้วไปปลดกลางอากาศทีหลัง เพราะใหม่ๆ จะอ่านหนังสือไม่แตก บรรณาธิการสมัยก่อนที่เขาประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเป็นปรู๊ฟด้วยซ้ำ แล้วขยับมาเป็นนักข่าว นักเขียน และที่สุดของคนทำหนังสือ คือ 'เก้าอี้บรรณาธิการ' เป็นงานสุดท้าย แต่คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นบรรณาธิการก่อนเลย และต่อไปคือเป็นผู้บริหาร เพราะฉะนั้นคุณภาพของหนังสือจะแตกต่างกัน

กล่าวถึงคุณสมบัติบรรณาธิการว่า พื้นฐานต้องเป็นคนที่มีความรักในการทำหนังสือ รักการอ่าน รู้จักหนังสือแต่ละประเภท รายได้จากอาชีพนี้ไม่มากนัก จึงต้องเป็นผู้ที่มีความพอเพียง สุภาพ เรียบร้อย ถ่อมตน มีความสามารถด้านต่าง ๆ ดี มีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ รักที่จะเรียนรู้ และขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง

บรรณาธิการจะต้องมีวิธีการฝึกคนให้ดีก่อนจบออกไปสู่สังคม ควรมีวิชาด้านจริยธรรมของบรรณาธิการ และกฎหมาย เพราะบรรณาธิการต้นฉบับที่ดีต้องมีจริยธรรมในวิชาชีพสูง มีความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมาย สังคม และจริยธรรม การถ่ายทอดความรู้ การสื่อสาร ลิขสิทธิ์ ทักษะด้านการตลาด การจัดจำหน่าย ให้ผู้เรียนมีความรู้เรื่อง ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ โครงสร้างของสำนักพิมพ์ ประเภทของบรรณาธิการ การเขียน การนำเสนอ รูปแบบของสื่อแต่ละชนิด รู้เรื่องข่าวเพื่อการบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ การสอนต้องเข้มงวดด้านภาษาไทย การอ่านออกเสียง การเขียนภาษาไทยด้วยลายมือ
คุณลักษณะของบรรณาธิการต้นฉบับที่ดีนั้น ควรมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ไม่เอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ มีความตระหนักรู้ในเรื่องต่าง ๆ มีความเฉลียวฉลาด มีความสงสัยเป็นธรรมชาติ มีทักษะในการเจรจา มีความสามารถในการเขียน และมีอารมณ์ขัน

บรรณาธิการจะต้องอ่านข่าวแตก เข้าใจอย่างลึกซึ้งและสามารถจับประเด็นข่าวที่น่าสนใจได้ ข่าวตรงนี้ต้องขายอย่างไร จะใช้คนไปตามข่าวนี้แบบไหน ไปหาข่าวมาอย่างไร พาดหัวเก่ง โดน และบรรณาธิการต้องสามารถทำงานเองได้หมดทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตรวจต้นฉบับ พาดหัว สี ฉะนั้นบรรณาธิการจะต้องสามารถดูแลและบริหารงานทั้งหมดได้ การบริหารงานต้องใจเย็น เพราะถ้าเป็นบรรณาธิการที่เด็กหรือวุฒิภาวะยังไม่ถึง บางทีอารมณ์อาจจะวูบวาบ ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้

การเป็นบรรณาธิการต้องหาความรู้เพื่อเป็นการเตรียมตัวหรือต้องฝึกฝนให้ชำนาญ ได้แก่
๑. วิชาการ เมื่อบรรณาธิการจะต้องตรวจต้นฉบับงานวิชาการในสาขาใด จะต้องอ่านหนังสือวิชานั้นเพิ่มเติม การอ่านในวิชาช่วยให้ประเมินได้ว่าต้นฉบับชิ้นนั้นมีประเด็นสำคัญที่มีค่าควรจัดพิมพ์ในขณะนั้นหรือไม่ ส่วนการอ่านเรื่องทั่วไปจะทำให้เป็นผู้รอบรู้เหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวของวงการอื่น ๆ และสภาวะของสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจจัดพิมพ์ รวมทั้งต้องใช้ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ ช่วยในการพิจารณา สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จึงมีคณะที่ปรึกษาทางวิชาการเพื่อทำหน้าที่นี้
๒. ภาษา ควรเลือกอ่านข้อเขียนที่ใช้ภาษาดี วรรณกรรมคลาสสิก หนังสือที่ได้รับรางวัลทางการใช้ภาษา รวมทั้งหาโอกาสอยู่ในแวดวงของผู้ใช้ภาษาถูกต้อง
๓. รู้จักผู้อ่าน เนื้อหาและท่วงทำนองการเขียนมีส่วนเป็นอย่างมากในการกำหนดหรือจำกัดกลุ่มผู้อ่าน
๔. เทคนิควิธีการผลิตสิ่งพิมพ์ ควรรู้ขั้นตอนและวิธีการเบื้องต้นพอที่จะพิจารณาให้ความเห็นและประสานงานกับผู้พิมพ์ได้
๕. กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานเขียน การแปล หรือดัดแปลง การนำไปเผยแพร่ เรื่องสิทธิ การละเมิดสิทธิความคุ้มครองโดยกฎหมายรวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายดังกล่าว
๖. การตลาด บรรณาธิการควรรู้เรื่องแวดวงการตลาดสิ่งพิมพ์อย่างครบวงจร เพราะเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของธุรกิจ
๗. การบริหาร เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับบรรณาธิการ ทั้งระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ

คุณสมบัติบรรณาธิการอีกประการหนึ่ง คือ ต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ รู้กว้าง และรู้ลึก อธิบายได้ดังนี้

๑. รู้กว้าง หมายถึง รู้ไปทุกเรื่อง ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปะ วรรณกรรม คือ ต้องมีความรู้ทุกๆ ศาสตร์ในระดับหนึ่งในความของความเป็นศาสตร์ เวลาตรวจดูต้นฉบับสามารถเชื่อมโยงทุกศาสตร์ทุกเรื่องได้
๒. รู้ลึก หมายถึง ลงลึกไปในศาสตร์ที่ตัวเองทำได้ชัดเจนและถนัด อย่างประวัติวรรณกรรมก่อเกิดมาอย่างไร ให้รู้ลึกลงไป วันนี้อาจจะยังไม่รู้ สะสมไปอีกสัก 3-4 ปี จะทำให้เรียนรู้ลึกลงไปเรื่อยๆ เอง เรียนรู้จากคนอื่นและคนรอบข้าง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้มีหลายวิธี ในปัจจุบันการเป็นบรรณาธิการต้องบริหารงานมากขึ้น จะต้องรู้จักการบริหารคน บริหารองค์กร การตลาด และการเขียนด้วย ไม่ใช่เน้นในแง่ของการทำหนังสือเพียงอย่างเดียว

การบรรณาธิการหนังสือเป็นงานหลักของการเป็นบรรณาธิการ

ขั้นตอนของการบรรณาธิการหนังสือ มีดังนี้
๑. ติดต่อผู้เขียนเพื่อเขียนต้นฉบับ
๒. ทำตางรางแผนงานให้ผู้เขียน
๓. ประชุมกับผู้เขียนการสร้าง outline
๔. จัดหาข้อมูล รูปภาพ เพื่อการบรรณาธิการ
๕. รับต้นฉบับจากผู้เขียน เริ่มงานบรรณาธิการ
๖. เมื่อต้นฉบับเข้า เราเริ่มอ่าน และวางแผนการออกแบบเนื้อหาและรูปเล่ม สร้าง icon และ สัญลักษณ์ต่างๆ 7. ประชุมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ บรรณาธิการ Atr และ Maketting
๗. ตรวจต้นฉบับ เพื่อดูความถูกต้องของภาษา และข้อมูล
๘. ส่งงานให้ ฝ่าย Arttist ออกแบบ
๙. ปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งพิสูจน์อักษรอีก 3-4 ครั้ง
๑๐. ส่งงานต่อไปที่งาน Prepress และโรงพิมพ์ต่อไป

หลักการพิจารณาหนังสือ
เมื่อผู้อ่านหนังสืออยากอ่านหนังสือที่ดีแล้ว ควรรู้จักหลักการพิจารณา หนังสือที่อ่านนั้น
“ ดี ” หรือ “ไม่ดี ” เหตุใดจึงเรียกว่าดี หรือเหตุใดจึงไม่ดี หรือบกพร่อง หนังสือควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
๑. ดี คือมีคุณธรรม ไม่ชักนำให้ผิดศีลธรรม ไม่ชักนำให้เห็นผิดเป็นชอบ
๒. มีแง่งาม คือ สร้างสรรค์สิ่งสวยงาม เช่น ถ้อยคำไพเราะงดงาม ไพเราะด้วยเสียง ด้วยโวหาร
๓. มีความเที่ยงธรรม ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่สร้างอคติ มีความเที่ยงตรงเที่ยงธรรม
๔. มีความสำคัญ หนังสือที่ดีควรกล่าวถึง เรื่องราวเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ น่าสนใจ น่านิยมยกย่อง หรือเป็นตัวอย่าง
๕. มีความจำเป็น เป็นเรื่องราวที่คนต้องการ เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรรู้ เช่น หนังสือเกี่ยวกับ มารยาท
๖. มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ให้คติชีวิตที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ให้ความรอบรู้ ให้ความคิดที่สมเหตุสมผล เสริมสร้างทัศนคติ
๗. มีค่านิยมสูง ข้อนี้สำคัญที่สุด คือเป็นหนังสือที่สร้างอุดมการณ์ อุดมคติ ให้เกิดขึ้นในจิตใจผู้อ่าน เป็นหนังสือที่ชี้บอกว่า สิ่งใดที่คนดี ๆ นิยมยกย่องควรปลูกฝังสร้างสมหรือสิ่งใดเลวร้าย น่ารังเกียจ ควรขจัดทำลาย

ซึ่งบรรณาธิการเองจะเป็นผู้ที่จะช่วยให้หนังสือที่จะออกมาดี เช่น ถ้อยคำไพเราะงดงามไพเราะด้วยเสียง ด้วยโวหาร แก้ไขข้อบกพร่อง การใช้ภาษา

นี่ก็คือ ภาพสะท้อนของวงการหนังสือไทย ที่ยังขาดแคลนผู้ที่จะมาเป็นบรรณาธิการหนังสือ จึงพยายามที่จะผลิตบรรณาธิการที่ดี มาบรรณาธิการหนังสือให้มีคุณภาพดี เพราะประเทศไทยเองยังให้ความสำคัญเรื่องการอ่าน เรื่องหนังสือ อยากที่จะผลิตหนังสือดีๆ ออกมาเพื่อให้ผู้รับสาร ได้รับสารที่ถูกต้อง การที่จะผลิตหนังสือออกมาให้ดีนั้น บรรณาธิการก็เป็นส่วนที่สำคัญที่มีส่วนช่วยให้หนังสือออกมาดี ถูกต้อง บรรณาธิการจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคมมาก เนื่องจากต้องมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้อง การแปล และตรวจแก้ต้นฉบับ เพื่อให้หนังสือออกมามีคุณภาพ เด็ก เยาวชน ที่อ่านหนังสือก็จะได้รับสิ่งดีๆไป

อ้างอิงจาก
ทิพภา ปลีหะจินดา, กุสลวัฒน์ คงประดิษฐ์, ดร. ศุภรางศุ์ อินทรารุณ และ ผศ. ชิตาภา สุขพลำ . (๒๕๕๐).
รายงานการวิจัย การศึกษาแนวโน้มความต้องการบัณฑิต ในสาขาบรรณาธิการ เข้าถึงได้จาก:
http://www.bflybook.com/Article/EditorialCourse1/EditorialCourse1.htm .
(วันที่ค้นข้อมูล: ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑)

บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย. หลักการพิจารณาหนังสือ. เข้าถึงได้จาก:
http://school.obec.go.th/nakhawit/e_learning/kompus/p9.htm
(วันที่ค้นข้อมูล: ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑).

พรชัย จันทโศก. (๒๕๕๐, ๒๔ ตุลาคม). วงการหนังสือไทย: ยุคตามล่าหาบรรณาธิการ.
เข้าถึงได้จาก: http://www.siam-handicrafts.com/Webboard/question.asp?QID=3386.
ข่าวจาก : กรุงเทพธุรกิจ รายสัปดาห์ วันอาทิตย์ที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2548.
(วันที่ค้นข้อมูล : ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑).

Sangrung. (๒๕๕๑, ๐๒ กุมภาพันธ์). ขั้นตอนการบรรณาธิการหนังสือ.
เข้าถึงได้จาก: http://sangrung.exteen.com/20080202/entry.
(วันที่ค้นข้อมูล: ๐๓ ตุลาคม ๒๕๕๑).

02 ตุลาคม 2551

บทความ...ภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)



ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)

ภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มานี้ ได้มีการบันทึกถึงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรง และต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น และบุคคลที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของพวกเราเอง



สาเหตุ

ภาวะโลกร้อนเป็นภัยพิบัติที่มาถึง โดยที่เราทุกคนต่างทราบถึงสาเหตุของการเกิดเป็นอย่างดี นั่นคือ การที่มนุษย์เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอซซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตพลังงาน เราต่างทราบดีถึงผลกระทบบางอย่างของภาวะโลกร้อน เช่น การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง การแพร่ระบาดของโรคร้ายต่างๆ อุทกภัย ปะการังเปลี่ยนสีและการเกิดพายุรุนแรงฉับพลัน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ประเทศตามแนวชายฝั่ง ประเทศที่เป็นเกาะ และภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอย่างเอเชียอาคเนย์

จากการทำงานของคณะกรรมการของรัฐบาลนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีองค์การวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เฝ้าสังเกตผลกระทบต่างๆ และได้พบหลักฐานใหม่ที่แน่ชัดว่า จากการที่ภาวะโลกร้อนขึ้นในช่วง 50 กว่าปีมานี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นในทุกหนทุกแห่ง ประมาณ 1.4-5.8 องศาเซลเซียส

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง วาตภัย อุทกภัย พายุฝนฟ้าคะนอง พายุทอร์นาโด แผ่นดินถล่ม และการเกิดพายุรุนแรงฉับพลัน จากภาวะอันตรายเหล่านี้พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่เสี่ยงกับการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่และช่วยเหลือเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เป็นเหตุให้ปริมาณผลผลิตเพื่อการบริโภคโดยรวมลดลง ซึ่งทำให้จำนวนผู้อดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นอีก 60-350 ล้านคน

ในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ มีโครงการพลังงานต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น และการดำเนินงานของโครงการเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล และปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละช่วงได้เปลี่ยนแปลงไป การบุกรุกและทำลายป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศน์วิทยาตามแนวชายฝั่ง และจากการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนสีของน้ำทะเล ดังนั้น แนวปะการังต่างๆ จึงได้รับผลกระทบและถูกทำลายเช่นกัน

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีชายฝั่งทะเล ที่มีความยาวประมาณ 2,490 กิโลเมตร และเป็นแหล่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และความไม่แน่นอนของฤดูการที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม มีการคาดการณ์ว่า หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เมตรภายในทศวรรษหน้า หาดทรายและพื้นที่ชายฝั่งในประเทศไทยจะลดน้อยลง สถานที่ตากอากาศชายทะเล รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พัทยา และ ระยองจะได้รับผลกระทบโดยตรง แม้แต่กรุงเทพมหานคร ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนี้เช่นกัน

ปัญหาด้านสุขภาพ ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของยุ่งมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่การแพร่ระบาดของไข้มาเลเรียและไข้ส่า นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น อหิวาห์ตกโรค ซึ่งจัดว่าเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโรคหนึ่งในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น คนยากจนเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ประกอบกับการให้ความรู้ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ดี ยังมีไม่เพียงพอ



ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน


แม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเป็นทอด ๆ และจะมีผลกระทบกับโลกในที่สุด ขณะนี้ผลกระทบดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การละลายของน้ำแข็งทั่วโลก ทั้งที่เป็นธารน้ำแข็ง (glaciers) แหล่งน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก และในกรีนแลนด์ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้ำแข็งที่ละลายนี้จะไปเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทร เมื่อประกอบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำสูงขึ้น น้ำก็จะมีการขยายตัวร่วมด้วย ทำให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เมืองสำคัญ ๆ ที่อยู่ริมมหาสมุทรตกอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลทันที

มีการคาดการณ์ว่า หากน้ำแข็งดังกล่าวละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 6-8 เมตรทีเดียว ผลกระทบที่เริ่มเห็นได้อีกประการหนึ่งคือ การเกิดพายุหมุนที่มีความถี่มากขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ดังเราจะเห็นได้จากข่าวพายุเฮอริเคนที่พัดเข้าถล่มสหรัฐหลายลูกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ละลูกก็สร้างความเสียหายในระดับหายนะทั้งสิ้น สาเหตุอาจอธิบายได้ในแง่พลังงาน กล่าวคือ เมื่อมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น พลังงานที่พายุได้รับก็มากขึ้นไปด้วย ส่งผลให้พายุมีความรุนแรงกว่าที่เคย นอกจากนั้น สภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้บางบริเวณในโลกประสบกับสภาวะแห้งแล้งอย่างอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น ขณะนี้ได้เกิดสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอีกเนื่องจากต้นไม้ในป่าที่เคยทำหน้าที่ดูดกลืนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ล้มตายลงเนื่องจากขาดน้ำ นอกจากจะไม่ดูดกลืนแก๊สต่อไปแล้ว ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากกระบวนการย่อยสลายด้วย และยังมีสัญญาณเตือนจากภัยธรรมชาติอื่น ๆ อีกมา ซึ่งหากเราสังเกตดี ๆ จะพบว่าเป็นผลจากสภาวะนี้ไม่น้อย



การแก้ปัญหาโลกร้อน



1. เปลี่ยนหลอดไฟ 2. ขับรถให้น้อยลง

3. รีไซเคิลให้มากขึ้น 4. เช็คลมยาง

5. ใช้น้ำร้อนให้น้อยลง

6. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์เยอะ

7. ปรับอุณหภูมิห้องของคุณ

8. ปลูกต้นไม้ 9. ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้


คลิป โลกจะถึงจุดวิกฤติในอีก 4 ปีจากภาวะโลกร้อน ถ้าเรายังไม่ทำอะไร! บทสัมภาษณ์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา จาก Seedang.com

บทสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพ

“อาชีพและความสำคัญของการเรียนหนังสือ”
บทสัมภาษณ์ นางพัชรินทร์ ลองจำนง
สัมภาษณ์โดย นางสาวมลฤดี สินสุพรรณ์ และ นางสาวสิริพร ยอดทอง




ประวัติส่วนตัว
ชื่อ นางพัชรินทร์ ลองจำนงค์ (น้าพัช)
อายุ ๔๔ ปี
ปัจจุบันทำงานรักษาความปลอดภัย ที่หอ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยบูรพา
มีครอบครัวแล้ว มีลูกชาย ๒ คนและ ลูกสาว๑ คน ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับปวช. มัธยมศึกษาปีที่ ๔ และประถมศึกษาปีที่ ๑ ตามลำดับ





น้าพัชเข้ามาทำงานนี้ได้อย่างไรคะ?
ช่วงแรกมีเพื่อนแนะนำมา เพราะว่าตอนนั้นเราไม่ได้ทำอะไร อยู่บ้านเฉย ๆ ก็เลยเข้าไปฝึกเป็นผู้รักษาความปลอดภัย ในองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นของทหารผ่านศึก เข้าไปฝึกในโรงเรียนแถวรามอินทรา โดยเริ่มทำงานในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ เป็นวันแรก แต่ว่าก่อนที่จะได้เข้ามาทำงานที่นี่ เคยเป็นหัวหน้าแม่บ้านที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชามาก่อน

แล้วลูกอยู่กับน้าพัชที่นี่ทั้งหมดทุกคนเลยรึเปล่าคะ?
ลูกชายอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี อยู่กับคุณป้าของเขา

บ้านเกิดของน้าพัชอยู่ที่ไหนเหรอคะ?
บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ แต่สามีไปรับราชการอยู่ที่กาญจนบุรี ก็เลยตามไป พี่เขยก็รับราชการอยู่ที่นั่น ก็เลยให้ลูกชายอยู่ที่นั่น แต่ว่าคนเล็กให้อยู่กับเราที่นี่ ตอนนี้ก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนหาดวอนนภาแล้ว

รู้สึกเบื่ออาชีพนี้ไหม?
ไม่เบื่อ เพราะเป็นอาชีพที่เราอยากทำมาก่อนแล้ว

สมมุติว่าลูกเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้วอยากให้เรียนต่อไหม?
แน่นอน คนโตที่เรียนปวช. อยู่ก็หวังอยากให้เรียนนายร้อย แต่คงหนักเกินไป ขอให้ลูกเรียนอะไรก็ได้ที่จบมาแล้วได้รับราชการ ซึ่งตอนนี้สามีก็ได้เงินบำนาญอยู่ ก็พอพยุงฐานะครอบครัวได้ ส่วนคนกลางก็ชอบในด้านนี้เหมือนกัน เพราะเกิดการปลูกฝัง แต่นายร้อยก็ฝึกหนักพอสมควร จบมาแล้วต้องมีคุณภาพ

ในการรักษาความปลอดภัยน้าพัชคิดว่าบริษัทของน้าพัชแตกต่างกับบริษัทธรรมดาอย่างไร?
ต่างคะ อย่างแรกเลยคือสามารถใส่แบบฟอร์มรปภ.ของทหารได้ มีสิทธิที่จะรับสวัสดิการ ทุกอย่างเหมือนกับทหารเลย ต่างแค่ไม่สามารถเบิกค่าเล่าเรียนได้ สำหรับในการฝึกก็ฝึกโดยคนที่เคยผ่านการเป็นทหารจริง ๆ ฝึกหนักมาก ไม่ว่าจะชายหรือหญิงเท่าเทียมกันหมด โดยทำการฝึก ๑ อาทิตย์ พอจบแล้วก็จะมีการรับรองให้ ในการฝึกก็มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ไม่ค่อยมีเวลาว่างเพราะ ต้องอยู่ในวินัยที่เคร่งครัด

ที่เราได้ทำงานอย่างนี้เพราะเราไม่มีโอกาสด้านการศึกษาใช่หรือเปล่า?
ใช่ ตอนนี้ต้องเรียนเยอะ ๆ น้าพัชบอกลูกเสมอว่าต้องเรียนเยอะ ๆ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นได้แค่ แม่บ้าน คนสวย ยาม น้าพัชจบปวส. บัญชี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ต้องดิ้นรน เก็บเงินไว้ให้ลูกเรียน ให้เรียนเยอะกว่าเรา

น้าพัชคิดว่า การทำงานให้ตรงกับสาขาที่เรียนมาดีไหม?
ดีนะ เป็นอะไรที่เยี่ยม แต่ส่วนมากเรียนมาแล้วได้ทำงานไม่ตรงกับสายของตัวเอง เรียนมาสูง แต่ก็ไม่ได้ใช้ แต่อย่างไรเรียนมากก็ดี เพราะถ้าเกิดไปเห็นงานที่ยาก เราจะรู้สึกว่าเราทำได้ มันง่าย อย่างน้อยเราก็เคยเรียนผ่านมาแล้ว

ถ้าเกิดเราเรียนเก่ง จะทำให้อนาคตของเรา อาชีพที่ทำดีขึ้นหรือเปล่า?
ไม่แน่เสมอไป คนที่เรียนเก่ง อนาคตอาจไม่ได้ทำงานที่ดีก็ได้ ไม่ได้ทำในอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน คนที่เรียนเก่ง จบแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ คนที่ไม่เก่งอาจทำได้ดีกว่า อยู่ที่ความขยันในตัวของแต่ละบุคคลมากกว่า ซึ่งในแต่ละอาชีพก็ต้องเรียนรู้กันไป

หลายคนที่ไม่ได้เรียน แต่ประสบความสำเร็จ น้าพัชคิดอย่างไร?
เขาเก่ง เขามีเงิน สามารถมาเป็นผู้ประกอบการได้ เขามีความขยัน สู้ชีวิต เราอยากทำให้ได้อย่างเขา เราต้องอดทน สู้ต่อไป

การเรียนสำคัญต่อการทำงานหรือเปล่า?
สำคัญ งานแต่ละงานต้องเรียนรู้ ต้องศึกษา ฝึกซ้อม ซึ่งก็แล้วแต่ละงานและสาขาอาชีพ เพราะคนที่ทำให้เราอยู่ไม่ได้ก็มี เราทำงานเยอะ พอเจอคนเยอะ เหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า คนประเภทนี้ ควรปฏิบัติตัวด้วยอย่างไร เราต้องตั้งหลักด้วยตัวเอง ถ้าเกิดเขากล่าวหาเรา เราก็นำมาพิจารณา แก้ไขในส่วนที่ตัวเองไม่ดีให้ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่เราตัดสินใจ

ถ้าน้าพัชได้เป็นผู้นำประเทศ น้าพัชจะช่วยเด็กด้อยโอกาสให้ได้เรียนหนังสือหรือเปล่า?
แน่นอน

แล้วจะช่วยอย่างไรคะ?
ถ้ามีเงินเยอะ ๆ น้าพัชเป็นผู้นำประเทศ จะให้เป็นทุนการศึกษาน่าจะดีกว่า เพราะเงินจะถึงเด็กง่ายกว่า ให้สำหรับเด็กเรียนดี อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะให้เด็กที่พ่อแม่ยากจน ไม่มีเงินส่งให้ลูกเรียน หรืออาจจะให้เป็นทุนอาหารกลางวัน เพราะเด็กขาดแคลนเยอะ ไทยได้ส่งเงินไปให้พม่าเพื่อช่วยเหลือพวกที่ประสบภัยในครั้งก่อน ช่วยเหลือพม่าเยอะ แต่ไม่ค่อยช่วยเหลือประเทศไทยด้วยกันเอง
ในการให้ทุน จะให้ผ่านงบประมาณหลวงไปเลย ให้เป็นรายหัว ให้เรียนฟรีก็น่าจะดี แต่เงินที่ให้ไปก็ใช่ว่าจะทั่วถึงทุกคนเพราะการคอรัปชั่นก็มีอยู่ อย่างเช่น โครงการหมู่บ้านเงินล้าน ก็ให้เงินไปหมู่บ้านละล้านก็ไม่กระจายทั่วถึง เป็นการส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ แต่ชาวบ้านที่กู้ไปก็นำไปใช้ในการทำสวน ไม่ก็ส่งลูกเรียน

การเมืองในปัจจุบันมีผลกระทบต่ออาชีพของทุกคนไหม?
แน่นอน เพราะเกิดการไม่กล้าลงทุน มีอัตราการเลิกจ้าง อย่างเช่น มีการเปลี่ยนบริษัทว่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยนี้
แล้วน้าพัชได้วางแผนไว้หรือเปล่าว่า ถ้าเกิดหมดสัญญาการว่าจ้างนี้แล้วหรือเมื่อวันที่น้าพัชมีอายุมากจนทำงานไม่ไหว น้าพัชจะทำอย่างไรต่อไปคะ
คิดว่าจะกลับไปทำสวนที่บ้าน เพราะที่บ้านก็มีที่ดิน มีรถไว้คอยเป็นมือเป็นเท้า เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ขนของกลับบ้านได้ คือว่าสุดท้ายแล้วก็ต้องได้กลับบ้าน เพราะเราก็อายุเยอะแล้ว ทำไม่ไหว ตอนนี้เราก็ต้องเก็บเงินไว้ใช้ ตอนแก่และส่งลูกเรียน แต่ก็ยังมีประกันสังคมอยู่ เอาไว้สะสมตอนแก่ตัวลงก็อาจได้เงินเดือน อย่างน้อย เดือนละ ๒,๐๐๐ บาทก็พอแล้ว เราคงไม่ได้ใช้ทำอะไรมาก

ถ้าสมมุติว่าน้าพัชมีเงินที่จะเรียนในขั้นที่สูงกว่านี้ อยากจะเรียนอะไร?
รู้สึกว่า ที่น้าพัชเรียนบัญชีมานี้ก็ไม่ได้นำมาใช้อะไร ในสมัยก่อนมีการคิดเลขในบัญชี ที่เรียนอยู่ตัวเลขเป็นล้าน ๆ เดี๋ยวนี้ เด็กก็เรียนการจัดการ การบริหาร นิยมกว่าบัญชี ส่วนบัญชีตอนนี้ก็มีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเยอะ
ส่วนเด็กที่มีโอกาสเรียนก็มักจะไม่เรียนกัน เที่ยวเตร่ ไม่มีพ่อแม่อยู่ดูแลความประพฤติ บางคนก็เรียนไม่จบ ออกไปกลางครัน มันน่าเสียดายโอกาส เงินและเวลา อย่างลูกชายน้าพัชเองก็เรียนเทคนิค เรียนช่างอิเล็กทรอนิกส์ มีวิชาหนึ่งที่เขาเข้าเรียนไม่ครบ ทำให้หมดสิทธิ์สอบ แต่ก็ต้องเคี่ยวเข็ญเท่านั้นที่จะทำให้เรียนผ่านได้ แต่เขาก็ยังพยายามเรียน มุ่งมั่นที่จะเรียน ถึงจะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ก็ตาม ส่วนลูกคนกลางจะให้เรียนไปทางสายสามัญ การเรียนหนังสือนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการทำงาน ถ้าหากไม่ได้เรียนมาก็อาจทำให้เสียโอกาสในด้านการทำงานดี ๆ การเรียนเท่านั้น ที่จะพัฒนาตัวเราได้



บทสัมภาษณ์อาจารย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่เรือตรี ดร.เอกวิทย์ มณีธร
รักษาการคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
และรักษาการหัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์
ประวัติการศึกษา

- การศึกษาบัณฑิต(ภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยบูรพา
- รัฐประศานศาสตรบัณฑิต (การบริหารบุคคล) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
- ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติการทำงาน

เริ่มทำงานในช่วงแรก เป็นอาจารย์ที่สถาบัน Top Ten และสถาบัน The Best ที่กรุงเทพฯ สอนไม่นานจึงย้ายไปที่กองวัฒนธรรมสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ศูนย์วัฒนธรรม) สมัยก่อนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ปัจจุบันยุบไปรวมกับกระทรวงวัฒนธรรม ต่อมา เข้าทำงานที่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เป็นการเริ่มต้นอาชีพครู มีวิถีชีวิตช่วงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา คือ ช่วงที่เรียนปริญญาตรีใบแรก (การศึกษาบัณฑิตหรือกศบ.) ทำให้ได้ใกล้ชิดกับเรื่องการศึกษา ค้นคว้าเอกสารการเรียนการสอน วิจัย การฝึกสอน เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาตลอดคือ เรื่องของการศึกษา วิชาชีพที่จบไปจึงเกี่ยวข้องกับการศึกษาเสียส่วนใหญ่

มีช่วงหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยน เพราะเป็นคนชอบเรื่องบู๊ ๆ เหมือนกัน จึงไปเรียนวิชาการทหาร ๕ ปี และฝึกที่กองทัพเรือ ได้รับการแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่เรือตรี จึงได้ใช้ยศมาถึงปัจจุบัน และมีวุฒิอีกหนึ่งใบที่จบจากกองทหารเรือด้วยที่เรียกว่า ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ มีคุณวุฒิเป็นประกาศนียบัตร เมื่อได้ฝึกวิชาการทหาร ๕ ปี ฝึกที่กองทัพเรือ ๒ ปี มีเพื่อนบางคนที่อยากทำงานด้านการศึกษา จึงเข้าสมัครทำงาน บางคนเป็นถึงบรรณารักษ์อยู่ในกองทัพเรือ หน่วยทหาร บางคนไปสอบเป็นนักบินทหาร บางคนก็ออกไปอยู่ในส่วนของการศึกษา เพราะทางกาองทัพจะเอากองกำลังที่เรียนวิชาทหาร (กองกำลังสำรอง) เอาไว้ฝึกฝนเพิ่มเติม ถือว่าเป็นการพัฒนาบุคลากรอีกทางหนึ่ง ทำให้เห็นว่า ทางด้านสายอาชีพการทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่

หลังจากที่ทำงานที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้เข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยบูรพา ทำงานในภาควิชารัฐศาสตร์ แต่สมัยนั้นมีโครงการรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งต่อมายกฐานะเป็นวิทยาลัยบริหารธุรกิจในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยอยู่ในกระแสนอกระบบ จึงมีโครงการนำร่องออกไปก่อน คือ วิทยาลัยบริหารธุรกิจและวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ออกไปเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ แต่ภาครัฐศาสตร์ยังอยู่ในคณะมนุษยศาสตร์ฯ อยู่ แต่ช่วงนั้นได้ลาไปเรียนปริญญาเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา ๕ ปีเต็ม พ.ศ.๒๕๔๘ ได้กลับมาทำงานที่ภาครัฐศาสตร์เช่นเดิม ทำหน้าที่รองหัวหน้าภาค หัวหน้าภาค ประธานหลักสูตร และได้รักษาการคณบดีในช่วงภาคเรียนฤดูร้อนที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาครัฐศาสตร์ เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ และขณะเดียวกันนี้ได้เข้าไปทำงานด้านนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น คือไปทำงานเป็น กรรมการสภามหาวิทยาลัย
การทำหนังสือแบบเรียนในภาควิชารัฐศาสตร์ อาจารย์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง?

ทางภาครัฐศาสตร์ เพิ่งแยกตัวออกมาเป็นคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เมื่อช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม เมื่อสมัยก่อนที่ยังเป็นภาคอยู่ก็จะสังกัดอยู่ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะมีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองให้ทุนคณาจารย์ไปผลิตผลงานทางวิชาการ จะได้เงินคนละ ๒๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งเล่ม เพื่อนำไปผลิตเอกสารการสอน เมื่อได้เงินมาเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องเสนอเนื้อเรื่อง ขอบเขตวิชาที่จะทำ เอาเอกสารมาจากไหน เมื่อเสนอเรียนร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการจะบอกว่าควรจะแก้ไขอะไร เพิ่มเติมตรงไหน อย่างของอาจารย์เองก็มีส่วนที่ต้องแก้ไขเช่นกัน เมื่อทางคณะกรรมการอนุมัติแล้ว ก็เริ่มทำหนังสือ โดยจะมีสัญญาเวลาการทำ อาจจะมีเวลาหนึ่งปีต้องทำให้เสร็จตามกำหนด ถ้าหากไม่เสร็จจะโดนปรับ นี่เป็นกระบวนการทางมหาวิทยาลัยที่ควบคุมอาจารย์ให้ทำหนังสือให้เสร็จ จากนั้นก็เอารูปเล่มไปให้ Reader อ่านเพราะมีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมมาตรฐาน ทั้งหมดนี้ก็เป็นการทำหนังสือของภาควิชาอีกวิธีหนึ่ง
ส่วนวิธีที่สอง อาจารย์บางท่านต้องการที่จะทำหนังสือเองโดยไม่ของบประมาณ สามารถทำหนังสือเป็นเล่มได้เลย และนำไปเผยแพร่ให้กับนิสิตหรือทางสำนักหอสมุด

ทั้งนี้อาจารย์เองก็เคยทำทั้งสองวิธี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีข้อเสียอยู่เช่นกัน คือ จากประสบการณ์ของอาจารย์บางครั้งเมื่อเราอยู่ในช่วงการขอตำแหน่งทางวิชาการด้วย ทำหนังสือด้วย เมื่อมีเวลาน้อยทำไม่ทัน รีบทำ อาจทำให้เกิดการผิดพลาดหน้าหนังสือตกหล่นได้

ทั้งเอกสารการสอนและเอกสารคำสอน ที่นำไปถ่ายเอกสารเย็บเล่มธรรมดาไม่สามารถขอเลข ISBN แต่ถ้านำไปเย็บรูปเล่มก็สามารถขอเลข ISBN จากหอสมุดแห่งชาติได้ แต่ทั้งสองอย่างเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อผู้ใดต้องการเอาข้อมูลไปใช้ต้องมีการอ้างอิงถึง ถ้าไม่มีการอ้างอิงถึงจะเสียทางหลักวินัย อาญา และหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ


วิจัยที่ทางภาควิชารัฐศาสตร์ต้องให้นิสิตทำและส่ง อาจารย์ได้เป็นคนตรวจบ้างไหม?

การวิจัยเป็นวิชาวิชาหนึ่งที่ต้องเรียนวิชาหนึ่งต้องทำวิจัยเรื่องหนึ่ง แต่วิชาของอาจารย์ที่สอนอยู่นี้ไม่ต้องทำวิจัย แต่มีการจัดสัมมนา จัดนิทรรศการเป็นการฟังพูดอ่านเขียน

ในชีวิตประวัติประจำวันของอาจารย์มีหนังสือที่ชอบหรือไม่?

หนังสือที่ชอบอ่านมีครับ แต่หนังสือที่ต้องอ่านบ่อยจะเป็นหนังสือที่จะต้องใช้ในวิชาชีพ เช่น หลักการบริหาร หลักรัฐศาสตร์ หลักการปกครอง ถ้าเป็นหนังสือที่ชอบอ่านจะเป็นการกีฬา การท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เวลาอาจารย์อ่านหนังสือ อาจารย์เจอสิ่งที่ผิดบ้างไหม อย่างเช่น การใช้คำผิด?

เจอครับ

แล้วอาจารย์คิดว่ามีผลเสียต่อเด็ก เยาวชน ประชาชน อย่างไรบ้าง?

ถ้าหากหนังสือไม่ได้รับการกลั่นกรองให้ดี เมื่อนำไปเผยแพร่แล้ว ผู้ที่ใช้ข้อมูลอาจนำไปอ้างอิงผิด เช่น คำว่า cut แต่ในภาษาไทยใช้คำหลายคำทั้ง ตัด เฉือน ซอย หั่น นี่คือความเหมือนที่แตกต่าง ความแตกต่างที่เหมือน

หนังสือแต่ละคณะที่ทำออกมาเพื่อการเรียนการสอน ยังมีจุดผิดพลาดอีกมาก จะแก้ไขอย่างไร?

ใช่ หนังสือของเรายังมีจุดผิดเยอะ อย่างเช่นของอาจารย์เอง เมื่อทำออกมาเป็นรูปเล่มแล้ว ก็ยังเจอจุดผิดอีกทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขั้นตอน ๓ ขั้นตอน คือ
๑. ตัวผู้เขียนหนังสือเอง ต้องบริหารเวลาให้ดี ถ้ารู้ว่าตนเองมีงานเยอะก็อย่าเพิ่งทำหนังสือ เพราะถ้าไม่มีเวลาทำหนังสือ เราจะรีบทำหนังสือ จนไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบหาข้อผิดพลาด
๒. ระบบการตรวจบรู๊ฟ ก่อนที่ทางคณะกรรมการหรือผู้เขียนจะปล่อยหนังสือออกไปนั้น ต้องมีการตรวจบรู๊ฟก่อน ต้องมีเงินสนับสนุน
๓. ผู้ประกอบการการเย็บเล่ม ในมหาวิทยาลัย มาตรฐานการเย็บเล่มเย็บเอกสารของแต่ละร้านไม่เท่ากัน ควรมีการประเมินผู้ประกอบการที่จะเข้ามาบริการให้กับนิสิต เช่น ให้เวลาทำสองปี เมื่อหมดสัญญาจะมีการประเมิน ถ้าผลการประเมินออกมาดีก็ให้ผู้ประกอบการนี้ทำต่อไปได้ ถ้าไม่ดีก็ให้ผู้ประการอื่นเข้ามาประมูลงานนี้แทน

ในมุมมองของอาจารย์ อาจารย์เข้าใจคำว่า “การตรวจบรู๊ฟ” และคำว่า “บรรณาธิการ” อย่างไร?

การตรวจบรู๊ฟ คือ การพิสูจน์อักษร บรู๊ฟ คือ การดูให้ละเอียด ถี่ถ้วน ว่าจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ คือข้อความ ประโยค สำนวน มันผิดหรือถูก การอ้างอิง บรรณานุกรมถูกหรือไม่ บางครั้งผู้เขียนหนังสืออาจใช้ระบบ C & D ( Copy and Development ) คือการไปลอกรูปแบบการอ้างอิงจากเล่มนั้น เล่มนี้มาปนกัน
บรรณาธิการ คือ บุคคลที่รวบรวม เรียบเรียง ควบคุม ตั้งแต่รูปแบบ จัดการให้หนังสือออกมาเป็นรูปเล่ม การเป็นบรรณาธิการต้องเป็นคนที่ละเอียด มีความรับผิดชอบ ต้องบริหารจัดการหนังสือเป็น

อาจารย์คิดว่า การบรรณาธิการ มีความสำคัญต่อหนังสือมาหรือไม่ อย่างไร?

มากครับ ถ้าเป็นองค์กร กว่าที่หนังสือจะมาเป็นรูปเล่มได้นั้น มันต้องมีวิธี คือ มี Input , Process , Output กว่าจะเป็นหนังสือออกมาได้ เพราะหนังสือที่ออกมานั้น ไม่ได้เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกเท่านั้น หนังสือที่ออกมาเกิดจากความมุ่งมั่น ความตั้งใจของผู้ที่สนใจในเรื่องนั้น ต้องมีการค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง บางครั้งการรวบรวม เรียบเรียง ก็ต้องมีการใช้ข้อมูลแบบ Secondary Data และ Primary Data ที่เป็นข้อมูลที่บางท่านได้รวบรวมเอาไว้แล้ว แล้วเรานำมาใช้อีก นำมาอ้างเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ บางท่านอาจเอาบทความของต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้อ่านเอง เอาการอ้างอิงบรรณานุกรมมาใช้ การไปหาตามร้านหนังสือ หรือในปัจจุบันก็สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต เช่น สั่งซื้อทางเว็บไซต์ Amazon.com สั่งซื้อและนำมาใช้ได้เลย

อาจารย์คิดว่า ในปัจจุบันวงการหนังสือของไทย ยังมีปัญหาอะไรบ้าง?

๑. เริ่มจากการอ่านหนังสือ คนไทยยังไม่รักการอ่านอย่างลึกซึ้ง แต่คนไทยก็ยังมีส่วนดี คือ ไทยเรายังรับเอาวัฒนธรรมของต่างชาติมา คือ เราไม่มีการปิดกั้น เช่น เราสามารถอ่านเรื่องระบบการเมือง ระบบคอมมิวนิสต์ได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เพราะไทยมีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพมา
การไม่รักการอ่านของเด็กไทยอาจดูได้จาก รายประมวลวิชาที่กำหนดหนังสือให้นิสิตอ่านหลายสิบเล่ม เพื่อประกอบการเรียนการสอน ซึ่งทางกระทรวงได้กำหนดมา แต่ในทางปฏิบัติจริงนิสิตเลือกอ่านเล่มเดียวก็เกินพอแล้ว นี่ก็เป็นการอ่านที่ต้องทำตามหน้าที่ อ่านเพื่อสอบ อ่านเพื่อคะแนน เพื่อทำงาน
๒. การเขียน ประเทศไทยเรามีนักเขียนเก่ง ๆ เยอะ แม้กระทั่งนักเขียนรางวัลซีไรต์ต่าง ๆ ก็เก่ง แต่ในปัจจุบันก็ไม่มีการสนับสนุนการเขียนอย่างเป็นระบบ เสริมให้นักเขียน เขียนหนังสือให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง เขาอาจมีระบบความคิดสร้างสรรค์ รวบรวม เรียบเรียงก็จริง แต่ถ้าเพิ่มระบบการตรวจบรู๊ฟ ระบบด้านการพิพม์ การให้ทุน ก็จะช่วยส่งเสริมให้งานเขียนออกมาดี
๓. การทำธุรกิจหนังสือ ในปัจจุบันก็มีร้านหนังสืออยู่เยอะ เช่น ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬาฯ แต่ผู้ประกอบการหนังสือรายใหญ่ ๆ ยังมีไม่มาก อย่างเช่น อัมรินทร์ นายอินทร์ ดอกหญ้า ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์บ้าง แต่ที่มีอยู่ทั่วประเทศก็จะเป็น ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬาฯก็จะมีบ้าง บางแห่ง อยากให้ผู้ประกอบการหนังสือรายใหญ่เพิ่มมากขึ้น หรือการขายหนังสือตามอินเตอร์เน็ต
แต่ที่ทำหนังสือที่บริการขายทางอินเตอร์เน็ตไม่ค่อยมีผู้เข้าใช้บริการก็จะมาจากความไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่เห็นตัวหนังสือ ถ้าเราไปตามร้านหนังสือ เราก็สามารถนำมาเปรียบเทียบราคา คุณภาพ เนื้อหาได้ และได้หนังสือที่ถูกใจมากกว่าด้วย

ในปัจจุบัน หนังสือนิตยสาร วารสาร ได้ตีพิมพ์ออกจำหน่ายกันจำนวนมาก อาจารย์จะมีการเลือกหนังสืออย่างไร?

ถ้าเป็นนิตยสาร เราก็ต้องคิดก่อนว่าเราอยากรู้เรื่องอะไร? เช่น ถ้าอยากรู้เรื่องการศึกษา เราก็อาจหาหนังสือพวก Student Weekly ถ้าเป็นการท่องเที่ยวก็เป็น อสท. หรือถ้าจะนำไปประกอบการสอน เช่น สอนเรื่องการเมือง เราก็ต้องเอาข้อมูลที่หลากหลาย ต้องเอามาจากหลายสำนักพิมพ์ เพื่อที่จะได้หลากหลายแนวคิด

หนังสือที่ดีต้องมีลักษณะเช่นใดบ้าง?

ในเชิงรูปธรรม ที่เราจะต้องเสียเงินเพื่อแลกกับความคุ้มค่า เพื่อนำมาค้นคว้า อ่านเพื่อหาความรู้ เราต้องเลือกที่เราอยากได้ ข้อมูลที่ตรงกับใจต้องการ แม้ว่ารูปเล่มหนังสืออาจจะไม่สวย โบราณ แต่มันมีข้อมูลที่อยากได้ เราก็ซื้อมา ต่อมา เราก็ต้องดูในเรื่องของรูปลักษณ์ว่า หนังสือเล่มนั้น ๆ สวย คงทน คุณภาพดี เย็บเล่มได้มาตรฐาน ถ้าเกิดการเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงก็มาดูต่ออีกทีว่า มีลด แลก หรือเปล่า ต้องดูทั้งเชิงรูปธรรมและเชิงคุณภาพ
ปรับปรุง