02 ตุลาคม 2551

บทสัมภาษณ์อาจารย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่เรือตรี ดร.เอกวิทย์ มณีธร
รักษาการคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
และรักษาการหัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์
ประวัติการศึกษา

- การศึกษาบัณฑิต(ภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยบูรพา
- รัฐประศานศาสตรบัณฑิต (การบริหารบุคคล) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
- ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติการทำงาน

เริ่มทำงานในช่วงแรก เป็นอาจารย์ที่สถาบัน Top Ten และสถาบัน The Best ที่กรุงเทพฯ สอนไม่นานจึงย้ายไปที่กองวัฒนธรรมสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ศูนย์วัฒนธรรม) สมัยก่อนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ปัจจุบันยุบไปรวมกับกระทรวงวัฒนธรรม ต่อมา เข้าทำงานที่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เป็นการเริ่มต้นอาชีพครู มีวิถีชีวิตช่วงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา คือ ช่วงที่เรียนปริญญาตรีใบแรก (การศึกษาบัณฑิตหรือกศบ.) ทำให้ได้ใกล้ชิดกับเรื่องการศึกษา ค้นคว้าเอกสารการเรียนการสอน วิจัย การฝึกสอน เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาตลอดคือ เรื่องของการศึกษา วิชาชีพที่จบไปจึงเกี่ยวข้องกับการศึกษาเสียส่วนใหญ่

มีช่วงหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยน เพราะเป็นคนชอบเรื่องบู๊ ๆ เหมือนกัน จึงไปเรียนวิชาการทหาร ๕ ปี และฝึกที่กองทัพเรือ ได้รับการแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่เรือตรี จึงได้ใช้ยศมาถึงปัจจุบัน และมีวุฒิอีกหนึ่งใบที่จบจากกองทหารเรือด้วยที่เรียกว่า ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ มีคุณวุฒิเป็นประกาศนียบัตร เมื่อได้ฝึกวิชาการทหาร ๕ ปี ฝึกที่กองทัพเรือ ๒ ปี มีเพื่อนบางคนที่อยากทำงานด้านการศึกษา จึงเข้าสมัครทำงาน บางคนเป็นถึงบรรณารักษ์อยู่ในกองทัพเรือ หน่วยทหาร บางคนไปสอบเป็นนักบินทหาร บางคนก็ออกไปอยู่ในส่วนของการศึกษา เพราะทางกาองทัพจะเอากองกำลังที่เรียนวิชาทหาร (กองกำลังสำรอง) เอาไว้ฝึกฝนเพิ่มเติม ถือว่าเป็นการพัฒนาบุคลากรอีกทางหนึ่ง ทำให้เห็นว่า ทางด้านสายอาชีพการทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่

หลังจากที่ทำงานที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้เข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยบูรพา ทำงานในภาควิชารัฐศาสตร์ แต่สมัยนั้นมีโครงการรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งต่อมายกฐานะเป็นวิทยาลัยบริหารธุรกิจในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยอยู่ในกระแสนอกระบบ จึงมีโครงการนำร่องออกไปก่อน คือ วิทยาลัยบริหารธุรกิจและวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ออกไปเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ แต่ภาครัฐศาสตร์ยังอยู่ในคณะมนุษยศาสตร์ฯ อยู่ แต่ช่วงนั้นได้ลาไปเรียนปริญญาเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา ๕ ปีเต็ม พ.ศ.๒๕๔๘ ได้กลับมาทำงานที่ภาครัฐศาสตร์เช่นเดิม ทำหน้าที่รองหัวหน้าภาค หัวหน้าภาค ประธานหลักสูตร และได้รักษาการคณบดีในช่วงภาคเรียนฤดูร้อนที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาครัฐศาสตร์ เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ และขณะเดียวกันนี้ได้เข้าไปทำงานด้านนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น คือไปทำงานเป็น กรรมการสภามหาวิทยาลัย
การทำหนังสือแบบเรียนในภาควิชารัฐศาสตร์ อาจารย์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง?

ทางภาครัฐศาสตร์ เพิ่งแยกตัวออกมาเป็นคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เมื่อช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม เมื่อสมัยก่อนที่ยังเป็นภาคอยู่ก็จะสังกัดอยู่ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะมีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองให้ทุนคณาจารย์ไปผลิตผลงานทางวิชาการ จะได้เงินคนละ ๒๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งเล่ม เพื่อนำไปผลิตเอกสารการสอน เมื่อได้เงินมาเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องเสนอเนื้อเรื่อง ขอบเขตวิชาที่จะทำ เอาเอกสารมาจากไหน เมื่อเสนอเรียนร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการจะบอกว่าควรจะแก้ไขอะไร เพิ่มเติมตรงไหน อย่างของอาจารย์เองก็มีส่วนที่ต้องแก้ไขเช่นกัน เมื่อทางคณะกรรมการอนุมัติแล้ว ก็เริ่มทำหนังสือ โดยจะมีสัญญาเวลาการทำ อาจจะมีเวลาหนึ่งปีต้องทำให้เสร็จตามกำหนด ถ้าหากไม่เสร็จจะโดนปรับ นี่เป็นกระบวนการทางมหาวิทยาลัยที่ควบคุมอาจารย์ให้ทำหนังสือให้เสร็จ จากนั้นก็เอารูปเล่มไปให้ Reader อ่านเพราะมีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมมาตรฐาน ทั้งหมดนี้ก็เป็นการทำหนังสือของภาควิชาอีกวิธีหนึ่ง
ส่วนวิธีที่สอง อาจารย์บางท่านต้องการที่จะทำหนังสือเองโดยไม่ของบประมาณ สามารถทำหนังสือเป็นเล่มได้เลย และนำไปเผยแพร่ให้กับนิสิตหรือทางสำนักหอสมุด

ทั้งนี้อาจารย์เองก็เคยทำทั้งสองวิธี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีข้อเสียอยู่เช่นกัน คือ จากประสบการณ์ของอาจารย์บางครั้งเมื่อเราอยู่ในช่วงการขอตำแหน่งทางวิชาการด้วย ทำหนังสือด้วย เมื่อมีเวลาน้อยทำไม่ทัน รีบทำ อาจทำให้เกิดการผิดพลาดหน้าหนังสือตกหล่นได้

ทั้งเอกสารการสอนและเอกสารคำสอน ที่นำไปถ่ายเอกสารเย็บเล่มธรรมดาไม่สามารถขอเลข ISBN แต่ถ้านำไปเย็บรูปเล่มก็สามารถขอเลข ISBN จากหอสมุดแห่งชาติได้ แต่ทั้งสองอย่างเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อผู้ใดต้องการเอาข้อมูลไปใช้ต้องมีการอ้างอิงถึง ถ้าไม่มีการอ้างอิงถึงจะเสียทางหลักวินัย อาญา และหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ


วิจัยที่ทางภาควิชารัฐศาสตร์ต้องให้นิสิตทำและส่ง อาจารย์ได้เป็นคนตรวจบ้างไหม?

การวิจัยเป็นวิชาวิชาหนึ่งที่ต้องเรียนวิชาหนึ่งต้องทำวิจัยเรื่องหนึ่ง แต่วิชาของอาจารย์ที่สอนอยู่นี้ไม่ต้องทำวิจัย แต่มีการจัดสัมมนา จัดนิทรรศการเป็นการฟังพูดอ่านเขียน

ในชีวิตประวัติประจำวันของอาจารย์มีหนังสือที่ชอบหรือไม่?

หนังสือที่ชอบอ่านมีครับ แต่หนังสือที่ต้องอ่านบ่อยจะเป็นหนังสือที่จะต้องใช้ในวิชาชีพ เช่น หลักการบริหาร หลักรัฐศาสตร์ หลักการปกครอง ถ้าเป็นหนังสือที่ชอบอ่านจะเป็นการกีฬา การท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เวลาอาจารย์อ่านหนังสือ อาจารย์เจอสิ่งที่ผิดบ้างไหม อย่างเช่น การใช้คำผิด?

เจอครับ

แล้วอาจารย์คิดว่ามีผลเสียต่อเด็ก เยาวชน ประชาชน อย่างไรบ้าง?

ถ้าหากหนังสือไม่ได้รับการกลั่นกรองให้ดี เมื่อนำไปเผยแพร่แล้ว ผู้ที่ใช้ข้อมูลอาจนำไปอ้างอิงผิด เช่น คำว่า cut แต่ในภาษาไทยใช้คำหลายคำทั้ง ตัด เฉือน ซอย หั่น นี่คือความเหมือนที่แตกต่าง ความแตกต่างที่เหมือน

หนังสือแต่ละคณะที่ทำออกมาเพื่อการเรียนการสอน ยังมีจุดผิดพลาดอีกมาก จะแก้ไขอย่างไร?

ใช่ หนังสือของเรายังมีจุดผิดเยอะ อย่างเช่นของอาจารย์เอง เมื่อทำออกมาเป็นรูปเล่มแล้ว ก็ยังเจอจุดผิดอีกทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขั้นตอน ๓ ขั้นตอน คือ
๑. ตัวผู้เขียนหนังสือเอง ต้องบริหารเวลาให้ดี ถ้ารู้ว่าตนเองมีงานเยอะก็อย่าเพิ่งทำหนังสือ เพราะถ้าไม่มีเวลาทำหนังสือ เราจะรีบทำหนังสือ จนไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบหาข้อผิดพลาด
๒. ระบบการตรวจบรู๊ฟ ก่อนที่ทางคณะกรรมการหรือผู้เขียนจะปล่อยหนังสือออกไปนั้น ต้องมีการตรวจบรู๊ฟก่อน ต้องมีเงินสนับสนุน
๓. ผู้ประกอบการการเย็บเล่ม ในมหาวิทยาลัย มาตรฐานการเย็บเล่มเย็บเอกสารของแต่ละร้านไม่เท่ากัน ควรมีการประเมินผู้ประกอบการที่จะเข้ามาบริการให้กับนิสิต เช่น ให้เวลาทำสองปี เมื่อหมดสัญญาจะมีการประเมิน ถ้าผลการประเมินออกมาดีก็ให้ผู้ประกอบการนี้ทำต่อไปได้ ถ้าไม่ดีก็ให้ผู้ประการอื่นเข้ามาประมูลงานนี้แทน

ในมุมมองของอาจารย์ อาจารย์เข้าใจคำว่า “การตรวจบรู๊ฟ” และคำว่า “บรรณาธิการ” อย่างไร?

การตรวจบรู๊ฟ คือ การพิสูจน์อักษร บรู๊ฟ คือ การดูให้ละเอียด ถี่ถ้วน ว่าจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ คือข้อความ ประโยค สำนวน มันผิดหรือถูก การอ้างอิง บรรณานุกรมถูกหรือไม่ บางครั้งผู้เขียนหนังสืออาจใช้ระบบ C & D ( Copy and Development ) คือการไปลอกรูปแบบการอ้างอิงจากเล่มนั้น เล่มนี้มาปนกัน
บรรณาธิการ คือ บุคคลที่รวบรวม เรียบเรียง ควบคุม ตั้งแต่รูปแบบ จัดการให้หนังสือออกมาเป็นรูปเล่ม การเป็นบรรณาธิการต้องเป็นคนที่ละเอียด มีความรับผิดชอบ ต้องบริหารจัดการหนังสือเป็น

อาจารย์คิดว่า การบรรณาธิการ มีความสำคัญต่อหนังสือมาหรือไม่ อย่างไร?

มากครับ ถ้าเป็นองค์กร กว่าที่หนังสือจะมาเป็นรูปเล่มได้นั้น มันต้องมีวิธี คือ มี Input , Process , Output กว่าจะเป็นหนังสือออกมาได้ เพราะหนังสือที่ออกมานั้น ไม่ได้เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกเท่านั้น หนังสือที่ออกมาเกิดจากความมุ่งมั่น ความตั้งใจของผู้ที่สนใจในเรื่องนั้น ต้องมีการค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง บางครั้งการรวบรวม เรียบเรียง ก็ต้องมีการใช้ข้อมูลแบบ Secondary Data และ Primary Data ที่เป็นข้อมูลที่บางท่านได้รวบรวมเอาไว้แล้ว แล้วเรานำมาใช้อีก นำมาอ้างเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ บางท่านอาจเอาบทความของต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้อ่านเอง เอาการอ้างอิงบรรณานุกรมมาใช้ การไปหาตามร้านหนังสือ หรือในปัจจุบันก็สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต เช่น สั่งซื้อทางเว็บไซต์ Amazon.com สั่งซื้อและนำมาใช้ได้เลย

อาจารย์คิดว่า ในปัจจุบันวงการหนังสือของไทย ยังมีปัญหาอะไรบ้าง?

๑. เริ่มจากการอ่านหนังสือ คนไทยยังไม่รักการอ่านอย่างลึกซึ้ง แต่คนไทยก็ยังมีส่วนดี คือ ไทยเรายังรับเอาวัฒนธรรมของต่างชาติมา คือ เราไม่มีการปิดกั้น เช่น เราสามารถอ่านเรื่องระบบการเมือง ระบบคอมมิวนิสต์ได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เพราะไทยมีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพมา
การไม่รักการอ่านของเด็กไทยอาจดูได้จาก รายประมวลวิชาที่กำหนดหนังสือให้นิสิตอ่านหลายสิบเล่ม เพื่อประกอบการเรียนการสอน ซึ่งทางกระทรวงได้กำหนดมา แต่ในทางปฏิบัติจริงนิสิตเลือกอ่านเล่มเดียวก็เกินพอแล้ว นี่ก็เป็นการอ่านที่ต้องทำตามหน้าที่ อ่านเพื่อสอบ อ่านเพื่อคะแนน เพื่อทำงาน
๒. การเขียน ประเทศไทยเรามีนักเขียนเก่ง ๆ เยอะ แม้กระทั่งนักเขียนรางวัลซีไรต์ต่าง ๆ ก็เก่ง แต่ในปัจจุบันก็ไม่มีการสนับสนุนการเขียนอย่างเป็นระบบ เสริมให้นักเขียน เขียนหนังสือให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง เขาอาจมีระบบความคิดสร้างสรรค์ รวบรวม เรียบเรียงก็จริง แต่ถ้าเพิ่มระบบการตรวจบรู๊ฟ ระบบด้านการพิพม์ การให้ทุน ก็จะช่วยส่งเสริมให้งานเขียนออกมาดี
๓. การทำธุรกิจหนังสือ ในปัจจุบันก็มีร้านหนังสืออยู่เยอะ เช่น ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬาฯ แต่ผู้ประกอบการหนังสือรายใหญ่ ๆ ยังมีไม่มาก อย่างเช่น อัมรินทร์ นายอินทร์ ดอกหญ้า ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์บ้าง แต่ที่มีอยู่ทั่วประเทศก็จะเป็น ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬาฯก็จะมีบ้าง บางแห่ง อยากให้ผู้ประกอบการหนังสือรายใหญ่เพิ่มมากขึ้น หรือการขายหนังสือตามอินเตอร์เน็ต
แต่ที่ทำหนังสือที่บริการขายทางอินเตอร์เน็ตไม่ค่อยมีผู้เข้าใช้บริการก็จะมาจากความไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่เห็นตัวหนังสือ ถ้าเราไปตามร้านหนังสือ เราก็สามารถนำมาเปรียบเทียบราคา คุณภาพ เนื้อหาได้ และได้หนังสือที่ถูกใจมากกว่าด้วย

ในปัจจุบัน หนังสือนิตยสาร วารสาร ได้ตีพิมพ์ออกจำหน่ายกันจำนวนมาก อาจารย์จะมีการเลือกหนังสืออย่างไร?

ถ้าเป็นนิตยสาร เราก็ต้องคิดก่อนว่าเราอยากรู้เรื่องอะไร? เช่น ถ้าอยากรู้เรื่องการศึกษา เราก็อาจหาหนังสือพวก Student Weekly ถ้าเป็นการท่องเที่ยวก็เป็น อสท. หรือถ้าจะนำไปประกอบการสอน เช่น สอนเรื่องการเมือง เราก็ต้องเอาข้อมูลที่หลากหลาย ต้องเอามาจากหลายสำนักพิมพ์ เพื่อที่จะได้หลากหลายแนวคิด

หนังสือที่ดีต้องมีลักษณะเช่นใดบ้าง?

ในเชิงรูปธรรม ที่เราจะต้องเสียเงินเพื่อแลกกับความคุ้มค่า เพื่อนำมาค้นคว้า อ่านเพื่อหาความรู้ เราต้องเลือกที่เราอยากได้ ข้อมูลที่ตรงกับใจต้องการ แม้ว่ารูปเล่มหนังสืออาจจะไม่สวย โบราณ แต่มันมีข้อมูลที่อยากได้ เราก็ซื้อมา ต่อมา เราก็ต้องดูในเรื่องของรูปลักษณ์ว่า หนังสือเล่มนั้น ๆ สวย คงทน คุณภาพดี เย็บเล่มได้มาตรฐาน ถ้าเกิดการเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงก็มาดูต่ออีกทีว่า มีลด แลก หรือเปล่า ต้องดูทั้งเชิงรูปธรรมและเชิงคุณภาพ
ปรับปรุง

1 ความคิดเห็น:

jainelfaciane กล่าวว่า...

Titanium-Arts: Collectibles - Sega Genesis - titanium-arts
Tired of micro touch trimmer making games? ford fusion titanium 2019 Take a trip back mens titanium earrings in time to ceramic vs titanium curling iron the microtouch titanium 1940s with our all-new collection of iron-based games.